วันพุธ, 17 กรกฎาคม 2562 09:54

วันเข้าพรรษา

Written by
Rate this item
(4 votes)

วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศานาที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดฤดูฝนเป็นระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระธรรมวินัยได้บัญญัติไว้โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรืออาจพูดเป็นภาษาทั่วไปว่า จำพรรษา (พรรษา แปลว่า ฤดูฝน , จำ แปลว่า พักอยู่) พิธีเข้าพรรษานี้ถือว่าเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ไม่สามารถละเว้นได้ทุกกรณี ซึ่งการเข้าพรรษาตามปกติจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และจะสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา

 2

ความเป็นมาของวันเข้าพรรษา

          วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) หรือเทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ถือว่าเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธที่สำคัญวันหนึ่งของประเทศไทย โดยมีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนในช่วงฤดูฝน ซึ่งวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) พุทธศาสนิกชนชาวไทย รวมถึงพระมหากษัตริย์และบุคคลทั่วไปได้สืบทอดประเพณีการปฏิบัติและการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานตั้งแต่สมัยสุโขทัย

          สาเหตุที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้จำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอดระยะเวลา 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น ก็เพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักจากการจาริกเผยแพร่ศาสนายังสถานที่ต่างๆ ที่จะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาจำพรรษตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาส หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ นับว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วยเอง อีกทั้งในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอด 3 เดือนนั้น พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้บำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา และนับเป็นโอกาสพิเศษที่มากกว่าวันสำคัญอื่นๆ โดยในวันเริ่มต้นพรรษานี้ จะมีการถวายหลอดไฟ หรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ เพื่อไว้สำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้ตลอดการอยู่จำพรรษา ซึ่งในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนและมีอายุครบบวช (20 ปี) จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดทั้ง 3 เดือน โดยพุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า บวชเอาพรรษา

          นอกจากนี้เมื่อปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ซึ่งในปีถัดมายังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษาและในช่วง 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา หวังเพื่อเป็นการส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย

kps001

ความสำคัญของวันเข้าพรรษา

  1. ช่วงวันเข้าพรรษา เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านจะประกอบอาชีพทำไร่ทำนา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ จะช่วยให้ต้นกล้าของพันธุ์พืช ตลอดจนสัตว์เล็กสัตว์น้อยไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์
  2. หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 – 9 เดือน ช่วงเข้าพรรษาจะเป็นช่วงที่ให้พระสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน
  3. วันเข้าพรรษา เป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง อีกทั้งยังได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา
  4. เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันจะเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาต่อไป
  5. เพื่อเป็นการให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ อาทิ ทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดช่วงเวลาเข้าพรรษาอีกด้วย

khaopansa header

ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระสงฆ์

ถึงแม้ว่าการเข้าพรรษาจะถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุโดยตรงที่ไม่สามารถละเว้นได้ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม แต่ในการจำพรรษาของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษานั้นอาจมีกรณีจำเป็นบางอย่างที่ทำให้พระภิกษุผู้จำพรรษาต้องออกจากสถานที่จำพรรษาเพื่อไปค้างแรมที่อื่น พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษาโดยมีเหตุจำเป็นเฉพาะกรณีๆ ไป ซึ่งได้มีระบุไว้ในพระไตรปิฎก ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการพระศาสนา หรือการอุปัฏฐานบิดามารดา ทั้งนี้ ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน การออกนอกที่จำพรรษาล่วงวันเช่นนี้เรียกว่า สัตตาหกรณีย พระพุทธเจ้าได้ทรงระบุเหตุต่างๆ เอาไว้ในกรณีจะออกจากที่จำพรรษาไปชั่วคราวได้ ดังนี้

  1. การไปรักษาพยาบาล หาอาหารให้ภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5 และบิดามารดา
  2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5
  3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด หรือการไปทำสังฆกรรม อาทิ สวดญัตติจตุตถกรรมวาจาให้พระผู้ต้องการอยู่ปริวาส เป็นต้น
  4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ให้ไปทายกได้โดยให้ทาน รับศีล ฟังเทศนาธรรมได้ ในกรณีนี้หากโยมไม่มานิมนต์ก็จะไปค้างไม่ได้

หากพระสงฆ์ออกจากอาวาสแม้โดยสัตตาหกรณียะล่วงกำหนด 7 วันตามพระวินัยก็ถือว่าขาดพรรษา และเป็นอาบัติทุกกฎเพราะรับคำ (รับคำอธิษฐานเข้าพรรษาแต่ทำไม่ได้) แต่ในกรณีที่พระสงฆ์สัตตาหกรณียะและกลับมาตามกำหนดแล้ว ไม่ถือว่าเป็นอาบัติ และสามารถกลับมาจำพรรษาต่อเนื่องได้ แต่หากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกจากที่จำพรรษาไปได้ตามวินัยอีก ก็สามารถทำได้โดยสัตตาหกรณียะและต้องกลับมาภายใน 7 วันเพื่อไม่ให้ขาดและไม่เป็นอาบัติทุกกฎดังกล่าว

กิจกรรมวันเข้าพรรษา

  1. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษาและถวายเทียนพรรษา
  2. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร
  3. ร่วทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
  4. อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่าง ๆ

ข้อมูลจาก : th.wikipedia.org / eng.bu.ac.th

บทความที่เกี่ยวข้อง

Read 42299 times Last modified on วันจันทร์, 07 ตุลาคม 2562 10:08
ครูสันติ มารัตน์

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

18691353
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
สัปดาห์ที่แล้ว
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ทุกวัน
35432
29606
97743
18380968
495887
1054856
18691353

Your IP: 3.17.150.163
2024-04-16 23:41